ซะกาตฟิตเราะห์ หรือทานฟิตเราะห์ คือทานที่มุสลิมทุกคนจะต้องแจกจ่ายแก่ผู้ยากจน ซะกาตฟิตเราะห์ ถือว่าเป็นทานที่ประเสริฐที่สุด โดยใช้อาหารที่บริโภคกันแต่ละประเทศเพื่อเป็นการขัดเกลาตนเองและซะกาตฟิตเราะห์นั้นยังมีส่วนเสริมข้อบกพร่องผลบุญ ของการถือศีลอดให้บริบูรณ์อีกด้วย
ท่านอิบนุอับบาส (ดร.) กล่าวว่า
“ท่านศาสดาแห่งอัลเลาะห์ได้กำหนดซะกาตฟิตเราะห์ก็เพื่อชำระความไม่ดีไม่งาม ให้หมดไปจากผู้ถือศีลอดเอง และเพื่อเป็นทานแก่ผู้ยากไร้อีกด้วย” บันทึกโดยอบูดาวูด
บทความนี้จะช่วยทบทวนข้อกำหนดและเงื่อนไข เกี่ยวกับซะกาตฟิตเราะห์เพื่อให้ชาวมุสลิมปฎิบัติได้อย่างถูกต้องตามหลักการของอิสลาม
Credit: เอกสารทางวิชาการการถือศีลอด โครงการตั๊บลีฆ ชมรมวิทยุภาคมุสลิม ตีพิมพ์ปี พ.ศ.2526

จากการพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้วว่า การทำซะกาตฟิตเราะห์นี้มีผลแก่ผู้บริจาคเองและกับสังคมส่วนรวม กล่าวคือ
✔ ประโยชน์ส่วนตัว
โดยปกติธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่อยากจะเป็นผู้ให้นั้นเพราะมีกิเลสแห่งความละโมบ เมื่อเขาได้ทำซะกาตฟิตเราะห์ เท่ากับว่าเขาได้เอาชนะอารมณ์ตระหนี่และละโมบได้สำเร็จ จนในที่สุดเกิดความสบายใจขึ้นมาในจิตใจ นอกจากนี้แล้ว คนเราขณะถือศีลอดย่อมมีความผิดพลาดและล่วงล้ำเกิดขึ้นได้บ้าง จะด้วยทางกาย วาจา จิตใจ ซึ่งทำให้ผลบุญแห่งการถือศีลลดหย่อนลงไป สิ่งที่จะทำให้ผลบุญงอกเงยขึ้นมาคือการทำซะกาตฟิตเราะห์
ท่านศาสดามุฮัมมัด กล่าวว่า
“จงนำความดีไปลบล้างความชั่ว” บันทึกโดยอะห์หมัด
✔ ประโยชน์ทางสังคม
ถ้าทุกคนกระทำทานอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา สิ่งนี้จะสามารถช่วยเหลือคนยากไร้ได้ ป้องกันไม่ให้ผู้ยากไร้นั้นไปทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือผิดกฎหมาย แม้จะไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมดแต่อย่างน้อยเราก็มีส่วนช่วยเหลือสังคม ช่วยอุดช่องว่างในสังคม สิ่งนี้จะส่งผลให้ผู้รับได้รับรู้ถึงความเอาใจใส่และเป็นแรงผลักดันให้เปลี่ยนสถานะจาก “ผู้รับ” เป็น “ผู้ให้” ได้ในวันหนึ่ง

อิสลามได้กำหนดเงื่อนไขของผู้ที่จำเป็นต้องทำซะกาตฟิตเราะห์ไว้ ดังนี้
ผู้ที่เป็นมุสลิม (นับถืออิสลาม)
✔ ต้องเป็นไท
✔ ต้องมีทรัพย์พอเพียงแก่ตนเองและครอบครัวในคืนวันอีด
✔ ต้องมีชีวิตอยู่ในช่วงเดือนรอมฎอนและเซาวาล คือมีชีวิตถึงวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน
หมายเหตุ:
ผู้ที่ไม่ต้องออกซะกาต
– ผู้ที่เสียชีวิตก่อนพระอาทิตย์ตกในวันสุดท้ายของรอมฎอน เด็กที่เกิดหลังดวงอาทิตย์ตกวันสุดท้ายของรอมฎอน

ข้อกำหนดคือให้ทุกคนทำทาน หนึ่งซอฮ์ (ทะนาน) ด้วยอาหารหลักของแต่ละประเทศ ในประเทศไทยก็ควรจะเป็นข้าวสาร โดยให้เลือกอาหารที่ดีทำทาน
รายงานจากท่านอิบนุอุมัร (ร.ด.) ว่า
“ท่านศาสดาแห่งอัลเลาะห์ ได้กำหนดให้มุสลิมทุกคน ให้ทำทานฟิตเราะห์อันเนื่องมาจากรอมฎอนคนละ หนึ่งซอฮ์ จากอินทผาลัมหรือข้าวสาลี” บันทึกโดยบุคอรี และมุสลิม
** 1 ซอฮ์ = 4 มุด (หรือ 4 กอบมือขนาดปานกลาง) นักวิชาการบางท่านให้ทัศนะว่า ประมาณ 2 กิโลครึ่ง – 3 กิโลกรัม **
โดยในการทำทานฟิตเราะห์นั้นให้ออกสำหรับตนเองก่อน แล้วตามด้วยบุคคลที่ตนรับผิดชอบตามมา
ชั่งข้าวสารโดยมีเจตนาว่า “ข้าพเจ้าจ่ายซะกาตฟิตเราะห์ซึ่งเป็นฟัรฎูเหนือข้าพเจ้าให้แก่ตัวข้าพเจ้า หรือให้แก่ภรรยาของข้าพเจ้า หรือลูกคนนั้นคนนี้ของข้าพเจ้า (จำนวนคน มีกี่คนก็ออกให้คนละ 1 ซอฮ์ พร้อมตั้งเจตนา) หรือให้แก่พ่อหรือแม่ของข้าพเจ้า (ในกรณีที่เราจำเป็นต้องเลี้ยงดู ส่วนในกรณีที่ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงดูท่านต้องขออนุญาตท่านเสียก่อน หากออกแทนโดยพละการถือว่าใช้ไม่ได้)

อนุญาตให้ทำซะกาตฟิตเราะห์ โดยนับจากเข้าเขตเดือนรอมฎอน ไม่ควรล่าช้าจนถึงเวลาละหมาดอีดเสร็จแล้ว นอกจากในกรณีจำเป็นเท่านั้น
ในทางปฎิบัติที่ดีนั้น ให้ทำทานเช้าตรู่วันอีดก่อนจะไปละหมาดอีด เพราะเพื่อให้ตรงเป้าหมายแห่งการกำหนดซะกาตฟิตเราะห์ กล่าวคือซะกาตฟิตเราะห์นี่เองที่สร้างความดีอกดีใจให้แก่เด็กๆ และคนยากจนจะได้มีโอกาสทานอาหารในวันแห่งความสุขของชนมุสลิม อีกทั้งพวกเขาจะได้คิดว่า วันอีดนั้นเป็นวันอีดของเราเหมือนกันมิใช่เป็นของคนมีเงินเพียงอย่างเดียว

ผู้ที่มีสิทธิ์รับซะกาตได้แก่บุคคล 8 จำพวก ดังนี้
1. คนยากไร้ คือ ผู้ที่ไม่มีทรัพย์สิน และมีรายได้ไม่พอกับความต้องการที่จำเป็นในการยังชีพ คนประเภทนี้สามารถรับซะกาตได้ตลอดปี
2. คนขัดสน คือ คนที่มีค่าเลี้ยงชีพในแต่ละวันครึ่งหนึ่ง หรือมากกว่า แต่ไม่เพียงพอ คนประเภทนี้จะฐานะดีกว่าคนยากไร้ และสามารถรับซะกาตได้ตลอดปีเช่นกัน
3.เจ้าหน้าที่ซะกาต ได้แก่ เจ้าหน้าที่ พนักงาน ที่ทำหน้าที่ เก็บรวบรวมซะกาต และแจกจ่ายซะกาตแก่ผู้มีสิทธิรับซะกาต บุคคลประเภทนี้รับซะกาตได้ เพียงอัตราค่าจ้างของเขาเท่านั้น
4.ผู้ถูกดลใจให้เข้ารับอิสลาม – บุคคลประเภทนี้มี 2 จำพวก
จำพวกแรก : ผู้ที่ยังไม่ใช่มุสลิม คนจำพวกนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาได้ในกรณีที่เพื่อให้เขาเข้ารับอิสลาม หรือให้เพื่อยับยั้งป้องกันภัยในสังคมมุสลิมอันเกิดจากน้ำมือของเขา
จำพวกที่สอง : ผู้ที่เข้าอิสลามแล้ว คนจำพวกนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาเพื่อเป็นการยึดเหนี่ยวเขาให้ยืนหยัดในอิสลามได้อย่างมั่นคง
5. ผู้ไร้อิสรภาพ ได้แก่ ทาสที่นายอนุมัติให้ไถ่ตัวเองได้ ทาสประเภทนี้ สามารถมอบซะกาตให้เขาได้ เพื่อให้เขาเป็นอิสรภาพ ซึ่งเขาสามารถรับซะกาตได้เพียงจำนวนทรัพย์ที่ขาดในการไถ่ตัวเองเท่านั้น และได้มีนักวิชาการบางกลุ่มให้ทัศนะว่า สามารถใช้ทรัพย์ซะกาตซื้อตัวทาสผู้นั้นเพื่อการปลดปล่อยได้เช่นกัน
6. คนมีหนี้สิน มี 3 ลักษณะด้วยกันคือ
– ผู้เป็นหนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
– เป็นหนี้เพื่อระงับความบาดหมางข้อพิพาทของเพื่อนบ้าน
– เป็นหนี้เนื่องจากเป็นผู้ประกันบุคคล
7. ในวิถีทางของอัลลอฮฺ หมายถึง การรบในหนทางของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ดังนั้นแต่นักปราชญ์รุ่นหลังได้ขยายความว่าสามารถจ่ายซะกาตแก่ผู้ที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆเพื่อเป้าประสงค์ในแนวทางของอิสลาม ซึ่งพวกเขาไม่ได้รับค่าเลี้ยงดูจากคลังของอิสลาม (บัยตุลมาล)
8. คนเดินทาง ได้แก่ ผู้ที่เดินทางออกจากถิ่นเดิมของเขา และขาดปัจจัยในการเดินทาง จนไม่สามารถกลับภูมิลำเนาเดิมได้ ดังนั้น คนประเภทนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาได้เพียงจำนวนที่ใช้เป็นปัจจัยเดินทางกลับภูมิลำเนาเท่านั้น
Credit:
เอกสารทางวิชาการการถือศีลอด โครงการตั๊บลีฆ ชมรมวิทยุภาคมุสลิม ตีพิมพ์ปี พ.ศ.2526
www.islamicfinancethai.com
www.Mulsimchiangmai.net
—–
Facebook : http://fb.me/AnnalinarShop
Instagram : https://www.instagram.com/annalinarshop
Website: https://www.annalinar.com
ติดตามสาระดีๆและโปรโมชั่นใหม่ๆที่ไลน์แอด @Annalinar https://goo.gl/GVjspr

#ANNALINARstory
เนื้อหาในเวปเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท ห้ามผู้ใดทำซ้ำหรือดัดแปลง เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
Comments
comments